ชื่อเรื่อง : EM ball จุลินทรีย์บำบัดน้ำเน่าเสีย จากน้ำท่วม
รายละเอียด : EM ย่อมาจากคำว่า Effective Microorganisms มีความหมายว่า กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ มีลักษณะเป็นของเหลว สีน้ำตาล กลิ่นหวานอมเปรี้ยว เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ไม่สามารถใช้ร่วมกับสารเคมีหรือ ยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ พืช และแมลงที่เป็นประโยชน์ ช่วยปรับสภาพความสมดุลของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ ที่ทุกคนสามารถนำไปเพาะขยายเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง EM Ball จะนิยมใช้ในกรณี คูคลอง แม่น้ำ ที่เป็นแหล่งน้ำ ที่น้ำไหลตลอดเวลา โดย EM Ball จะสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศ เมื่อจมลงที่ก้นคลองจะช่วยย่อยตะกอน เน่าเสีย สามารถสร้างอาหารสัตว์เล็กๆ โดยเฉพาะกลุ่มแพลงก์ตอนพืชให้เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย และเกิดแพลงก์ตอนสัตว์เพื่อเป็นอาหารที่ดีของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ รวมทั้งเป็นการเพิ่ม จุลินทรีย์ดีในน้ำเมื่อก้นคลองหรือแม่น้ำมีจุลินทรีย์ ดีมากขึ้น ก้นคลองจะเริ่มสะอาด มีปริมาณออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้จุลินทรีย์กลุ่มที่มีประสิทธิภาพจะช่วยย่อยสลายตะกอนมากขึ้น สารพิษในน้ำที่ก่อให้เกิดมลภาวะก็จะลดน้อยลง ระบบนิเวศในแม่น้ำลำคลองก็จะ ค่อยๆดีขึ้น เพื่อที่จะรักษาสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ จะขาดไม่ได้ จุลินทรีย์ผู้เปรียบเสมือนวีรบุรุษนี้ก็จะช่วยในการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ เช่น กุ้งหอย ปูปลา พร้อมกับสภาพคูคลอง แม่น้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ EM Ball คือการทำโบกาฉิให้เป็นก้อนกลม เพื่อนำไปใช้ในการบำบัดสิ่งแวดล้อม เพราะวัสดุที่ทำโบกาฉิ จะประกอบไปด้วย รำละเอียด แกลบ และมูลสัตว์ เมื่อนำโบกาฉิไปบำบัดสิ่งแวดล้อมแล้วจะลอย ทำให้การบำบัดน้ำเสียไม่กระจายไปถึงน้ำเสียส่วนที่อยู่ด้านล่างและขี้เลนส่วนล่างสุดในบ่อได้ ดังนั้น ดังโหงะจึงเป็นนวัตกรรมที่ใช้รักษาน้ำเสียที่เกิดจากขี้เลนก้นบ่อกระจายจากส่วนล่างถึงส่วนบนอย่างทั่วถึง มีขั้นตอนการทำดังนี้ ขั้นที่ 1 การทำอีเอ็มโบกาฉิ วัสดุ 1. รำละเอียด 1 ปี๊บ 2. มูลสัตว์ 1 ปี๊บ 3. แกลบ 1 ปี๊บ 4. ถังน้ำ 10 ลิตร 1 ใบ 5. จุลินทีย์อีเอ็ม 20 ซี.ซี. (2 ช้อนโต๊ะ ) 6. กากน้ำตาล 20 ซี.ซี. 7. จอบ หรือ พลั่ว 1 อัน วิธีทำ 1. นำมูลสัตว์ และแกลบคลุกให้เข้ากัน 2. เติมน้ำลงในถัง 10 ลิตร แล้วเติมจุลินทรีย์อีเอ็มและกากน้ำตาลลงไปอย่างละ 20 ซี.ซี. คนให้เข้ากัน รดลงที่ส่วนผสมของมูลสัตว์และแกลบ (ในข้อ 1) ให้มีความชื้นพอหมาด ๆ ให้น้ำกระจายทั่วทุกส่วนอย่าให้น้ำเปียกหรือแฉะ ใช้มือกำอย่าให้มีน้ำซึมผ่านออกมา (น้ำผสมอีเอ็ม 10 ลิตรอาจจะใช้ไม่หมด) 3. โรยรำละเอียดให้รำข้าวกระจายทั่วถึง จะเกิดความชื้นหมาด ๆ พอดี การหมัก การหมักเพื่อให้จุลินทรีย์อีเอ็มเพิ่มจำนวนประชากรอีเอ็มเพิ่มมากขึ้น มีการหมัก 2 แบบคือ 1. หมักโดยกองกับพื้นให้สูงจากพื้นประมาณ 20 เซนติเมตร คลุมด้วยกระสอบป่านภายใน 5 ชั่วโมงจะมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 50 องศาเซลเซียส ในวันที่ 2 และวันที่ 3 ให้คลุกผสมใหม่ นำกระสอบคลุมไว้เหมือนเดิม เมื่อครบ 5-7 วัน ปุ๋ยหมักจะแห้งสนิท สามารถนำไปใช้ หรือเก็บรักษาไว้ในที่ร่ม 2. หมักในกระสอบพลาสติก บรรจุลงในกระสอบพลาสติกสานที่มีรูระบายอากาศได้ดี ประมาณ ? กระสอบ มัดปากกระสอบนอนไว้เก็บในที่ร่มอากาศถ่ายเท เมื่อถึงวันที่ 2 และวันที่ 3 ให้พลิกกระสอบ เพื่อให้จุลินทรีย์อีเอ็มสร้างสปอร์หรือเพิ่มจำนวนประชากรทุกส่วนได้อย่างทั่วถึง เมื่อ 5-7 วันปุ๋ยหมักจะแห้งสนิท ขั้นที่ 2 การทำดังโหงะ หรืออีเอ็มบอล คือการทำอีเอ็มโบกาฉิที่แห้งสนิทแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนกลม เพื่อง่ายหรือสะดวกในการโยนลงในแหล่งน้ำเสีย จะทำให้การบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น มีการทำดังนี้ วัสดุ 1. น้ำสะอาด 10 ลิตร ผสมอีเอ็ม และ กากน้ำตาลลงในน้ำอย่างละ 2 ช้อน 2. นำโบกาฉิที่แห้งสนิทแล้วมา 1 ปี๊บ 3. นำดินเหนียว หรือ ดินร่วนมา 1 ปี๊บ 4. นำรำละเอียดมา 1/2 ปี๊บ ขั้นตอนการทำ 1. เอาโบกาฉิ และ ดินเหนียวคลุกผสมกัน พร้อมทั้งรดด้วยน้ำผสมอีเอ็มจากข้อ 1 รดลงในส่วนผสมจนเกิดความชื้นพอหมาด ๆ อย่าให้แฉะพอปั้นให้เกิดก้อนกลม ๆ 2. เอารำละเอียดลงคลุกผสมแล้วปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ทรงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร 3. นำก้อนทรงกลมมาวางเรียงกันในที่ร่ม ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทประมาณ 10 วัน * EM Ball ห้ามตากแดด เพราะจะทำให้จุลินทรีย์ตาย ไร้ประโยชน์ในการบำบัด ประโยชน์และการนำไปใช้ ดังโหงะ คือ อีเอ็มก้อนที่มีจำนวนประชากรของอีเอ็มรวมกันอยู่อย่างหนาแน่น ใช้สำหรับบำบัดน้ำเสียในแหล่งน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีเอ็มจะย่อยก๊าชแอมโมเนีย ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์จนเป็นน้ำที่สะอาด โดยปริมาณน้ำเสีย 10 ลูกบาศก์เมตร จะใช้ดังโหงะประมาณ 2-5 ก้อน
ชื่อไฟล์ : rYH3R77Tue105422.jpg file_download ดาวน์โหลดไฟล์นี้
ชื่อไฟล์ : ES2AF2mTue105428.jpg file_download ดาว์นโหลดไฟล์นี้